ไขข้อสงสัย ทำไมความจุหน่วยความจำถึงใช้จริงได้ไม่เต็ม?

Last updated: 10 พ.ย. 2566  |  1232 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไขข้อสงสัย ทำไมความจุหน่วยความจำถึงใช้จริงได้ไม่เต็ม?

   หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่าทำไมเวลาซื้อโน้ตบุ๊ก, มือถือ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์, Flashdrive, microSD หรือหน่วยความจำอื่น ๆ เมื่อนำมาใช้งานแล้วทำไมความจุที่ใช้ได้ถึงมีน้อยกว่าที่สเปกโฆษณาเอาไว้ เช่น ฮาร์ดดิสก์ความจุ 500GB แต่เมื่อเปิดดูใน Windows แล้วพบว่ามีพื้นที่ให้ใช้งานได้จริงประมาณ 465GB เท่านั้น แล้วส่วนที่หายไปล่ะ มันหายไปไหน วันนี้ SUM UP PREMIUM ผู้ผลิตและจำหน่ายแฟลชไดร์ฟพรีเมี่ยม มีข้อมูลมาฝากกัน รับรองว่าอ่านจบแล้ว จะไขข้อสงสัยในเรื่องนี้ได้แน่นอน

  ปกติแล้วเรามักจะใช้การคำนวณแปลงหน่วยค่าความจุกันด้วยการคูณหรือหาร 1,000 เพื่อให้คำนวณได้ง่าย เช่น 1GB เท่ากับ 1,000MB และ 1MB เท่ากับ 1,000KB และ 1KB ก็เท่ากับ 1,000 Bytes ยกตัวอย่างเช่น ฮาร์ดดิสก์ 250GB ก็จะเท่ากับว่ามีความจุ 250,000,000,000 Bytes

  แต่ในระบบคอมพิวเตอร์อย่างใน Windows นั้น จะคำนวณว่า 1GB เท่ากับ 1,024MB ตามหลักการคำนวณแบบ Binary ของระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้ฮาร์ดดิสก์ที่มีความจุอย่าง 250,000,000,000 Bytes เมื่อนำมาหาร 1,024 ทั้ง 3 ครั้ง เพื่อแปลงให้เป็นหน่วย GB แล้ว จะได้เท่ากับ 232GB ซึ่งน้อยกว่าสเปกที่ระบุไว้ตอนโฆษณาว่า 250GB นั่นเอง

  จากการคำนวณดังกล่าวนั้น ส่งผลให้หน่วยความจำที่ยิ่งมีความจุมาก เราก็จะยิ่งเห็นความจุที่ใช้ได้จริงน้อยกว่าที่โฆษณาไว้เป็นทวีคูณ เช่น ฮาร์ดดิสก์ 1TB (1,000GB) จะสามารถใช้งานได้จริงเพียง 931GB เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในบางระบบปฏิบัติการที่ไม่ใช่ Windows อาจใช้วิธีคำนวณด้วยเลขฐาน 1,000 ทำให้เมื่อเปิดเช็กค่าความจุแล้วจะแสดงตัวเลขเท่ากับที่โฆษณาไว้ด้วยเช่นกัน

  ทั้งนี้ ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นการกล่าวถึง ความจุรวมทั้งหมดของหน่วยความจำนั้น ๆ ส่วนกรณีที่คนซื้อมือถือหรืออุปกรณ์อื่น ๆ มาแล้ว พบว่ามีพื้นที่บางส่วนถูกใช้งานไปตั้งแต่เปิดเครื่องครั้งแรกแล้ว นั่นเป็นเพียงการใช้พื้นที่สำหรับข้อมูลต่าง ๆ ของระบบปฏิบัติการเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นคนละกรณีกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้